
The Life Behind Music Scene Part 1 : Koichi Shimizu, SPACETALEXXX aka. Yaaklab, Tom Funkygangster
09/08/2016
By: WINKIEB
วันนี้เราจึงดึงเอา 3 ศิลปิน มาพูดคุยถึงเบื้องลึกของการใช้ชีวิตไปพร้อมกับดนตรีที่พวกเขารัก รวมไปถึงพูดคุยเกี่ยวกับงาน TEMPOLOGY ที่จะเกิดขึ้นว่ามันจะพัฒนา Scene ดนตรีของเราไปในทิศทางไหน ทั้ง Koichi Shimizu, SPACETALEXXX aka. Yaaklab, Tom Funkygangster กับเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานและมุมมองที่พวกเขามีต่อ Local Electronic Music Scene ของเมืองไทย งานนี้พวกเขาไม่ได้มาเล่นๆ 13 สิงหาคมนี้รับประกันความโหดแน่นอน
**นอกจากการเป็น Dj หรือศิลปินแล้ว แต่ละคนทำอะไรกันบ้าง**
Koichi : ผมก็ทำเพลงประกอบหนัง, เพลงโฆษณา, Sound Design, Producer แล้วก็เป็นเจ้าของค่ายเพลงที่ชื่อ So:On Dry flower ทำหลายอย่างมาก
SPACETALEXXX : ผมทำเพลงโษณา, เพลงประกอบหนัง และบางช่วงก็ทำ Interior Design เพราะเรียนด้านนี้มา แต่ตั้งแต่ปี 2000 ก็ทำงานด้านเพลงมาตลอด
Tom FKG : เป็น Club Dj ด้วยแล้วก็เป็นพ่อบ้านด้วยครับ

**ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พี่โค Koichi ทำทั้งค่ายเพลง เป็นศิลปิน และ Producer เพลงโฆษณา การทำงานด้านนี้มันให้อะไรกับเราบ้าง**
Koichi : แต่ละงานมันจะไม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือได้เป็นตัวเอง และได้ร่วมงานกับศิลปินเยอะพอสมควร แต่คนที่ผมได้ร่วมทำ Sound Design และสร้างแรงบันดาลใจให้ผมมากที่สุดคือ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (พี่เจ้ย)

**ส่วนพี่โน๊ต SPACETALEXXX การทำค่ายเพลง, เพลงโฆษณา และการเป็นศิลปิน ดูเหมือนว่าชีวิตจะอยู่กับการทำงานกับเสียงเพลงตลอด มีเบื่อบ้างรึเปล่า แล้วมีวิธีจัดการยังไงให้ยังคงสนุกอยู่กับมันได้**
SPACETALEXXX : ผมว่าพี่โคเป็นเหมือนผมนะ ความซวยที่เป็นตอนนี้คืองานประจำที่ทำคือทำเพลง งานอดิเรกแม่งเสือกทำเพลงด้วย มันเลยกลายเป็นว่าวันๆนึงถ้าไม่ออกไป Event มันก็เอาแต่ทำเพลง แต่ยังโชคดีที่ผมเป็นคนชอบเพลงหลายแนว จริงๆเราชอบ Drum & Bass แต่พอเบื่อหนักๆบางช่วงเราก็ไปชอบพวก Beat Music หรือ Hip Hop แต่สุดท้ายก็ไปนั่งทำเพลงอยู่ดี ผมก็ยังสนุกกับตรงนี้อยู่นะ กลายเป็นว่ามีช่วงนึงที่รู้สึกเบื่อเพราะทำเพลงโฆษณาเยอะๆ หาเงินได้เยอะมาก ช่วงนั้นแหละคือช่วงที่เบื่อการทำเพลงมากที่สุด มันเหมือนเราไม่ได้ทำงานตัวเอง ผมเคยคุยกับเพื่อนคนนึงนะ คือมันก็จะมีจุดนึงที่ต้องทำเพลงเพื่อให้วงตัวเองดัง จนต้องมานั่งถามตัวเองว่า นี่เราทำอะไรอยู่วะ เราก็เลยลาออกจากงาน หันมาทำเพลงของตัวเอง คราวนี้แหละกลับมาสนุกอีกรอบ แล้วมีช่วงปี 2011 – 2012 ที่ได้เรียนทำเรื่องการ Mixing เพิ่มเติม มันยิ่งทำให้เราสนุกมากยิ่งขึ้น Sound เพลงของเรามันก็ดู Professional ขึ้นด้วย

**อย่างพี่ต้อมเป็นทั้ง Dj, เป็นพ่อบ้าน ชีวิต 2 คาแรคเตอร์สำหรับตัวเองแล้ว มันยากง่ายมากน้อยแค่ไหน**
Tom FKG : งานประจำผมคือพ่อบ้าน งานอดิเรกผมคือ Dj แต่ก็จะเรียกว่างานอดิเรกไม่ได้หรอก เพราะผมก็หาเงินจากจุดนี้ ง่ายๆเลยคือผมทำงาน 24 ชั่วโมง ตอนเย็นเราก็จะอยู่ในโลกที่เรารัก เลือกเพลงไปเล่นแต่ละที่ บางที่ก็ 4-5 ชั่วโมง เสร็จงานปุ๊บเราก็แวะซุปเปอร์มาเก็ต แล้วกลับบ้านเราก็กลายเป็นคุณพ่อ ตื่นเช้ามาก็พาลูกชายไปส่งโรงเรียน Happy นะ เหมือนกับเราสามารถจูนสองโลกไว้ด้วยกัน อย่างตอนเช้าผมก็จะมาอยู่ด้านสว่างไสว ตกกลางคืนผมก็จะเข้าโหมด Dark side ให้มันบาลานซ์กันเหมือนหยินหยาง ถ้าเราสนุกกับกลางคืนมากไป กลางวันมันก็หายไป มันต้องจูนให้ทุกอย่างอยู่กึ่งกลาง มีความพอดี
**แล้วมันยากมั้ยที่ต้องทำงาน ที่แตกต่างจากคนทั่วๆไป**
Koichi : จริงๆมันคืออาชีพ ผมว่ามันไม่ต่างกันกับคนทำงาน Office หรอก มันมี Routine มีหน้าที่ชัดเจน มันต้อง Creative มีเริ่มและมีจบงานเหมือนกัน เราไม่ได้รู้สึกว่างานที่ทำพิเศษกว่างานอื่นนะ มันเป็นอาชีพนึงที่คล้ายๆกับคนทำอาหารแหละ
SPACETALEXXX : ไม่หรอกตามความรู้สึกผมนะ ผมว่าเราโชคดีกว่าคนอื่นด้วย จริงๆมันมีคนใน Gen เดียวกันตอนเราเป็นวัยรุ่นที่เล่นดนตรีเก่งกว่าเราด้วยซ้ำ แต่เขาไม่มีโอกาสแบบเราตอนนี้ที่ได้ทำงานในสตูดิโอ และกลายมาเป็นอาชีพ ซึ่งถ้าคนพวกนั้นมีโอกาสได้ทำ ที่บ้านสนับสนุน มันอาจจะเก่งกว่าเราก็ได้ ไม่ใช่แต่คนไทยหรอก ฝรั่งก็เป็น ครอบครัวก็จะต้องพูดละว่าอย่าเป็นนักดนตรีเลย มันลำบาก แต่จริงๆข้อเสียของงานที่ทำอยู่ณ.ปัจจุบันคือ สมัยก่อนถ้าคุณฝึกจนเก่ง แล้วคุณทำงานด้านนี้ คุณจะหาเงินและใช้ชีวิตได้สบายๆ อาจจะไม่รวยเท่าคนทำธุรกิจ แต่ว่ามันไม่ลำบาก แต่ทุกวันนี้ศิลปินบางคนยังขายเพลงไม่ค่อยจะได้ ค่าโปรดักส์ชั่นในการทำเพลงโฆษณามันก็ลดลง ทำให้คนทำงานเบื้องหลังในยุคนี้ก็ลำบากเหมือนกัน แต่ถ้าให้เลือกระหว่างไปทำงานออฟฟิต อยู่แบงค์ กับทำงานนี้แล้วลำบาก เราก็เลือกงานนี้อยู่ดี
Tom FKG : ยากมั้ย มันก็อยู่ที่ใจเราด้วยนะ ถ้าเราเปิดเพลงแล้วคนเฮ คนสนุก แล้วเราก็ไปหลงระเริงอยู่กับชื่อเสียงหรือว่าโลกด้านมึด ก็จะเป็น Dj ได้ไม่นาน Dj มันเป็นอาชีพอาชีพหนึ่งได้นะ ถ้าเรารักและเคารพมันก็ต้อง Control มันให้ได้ มันคืองานที่ต้องอยู่ใน Club แสง สี เสียง ถ้าเราสามารถ Control ตัวเองได้ก็จะอยู่ในวงการนี้ได้นาน
**ดนตรี Electronic Music สำหรับคุณแล้วมันคืออะไร**
Tom FKG : ยอมรับว่าตอนเด็กๆหรือตอนวัยรุ่นผมไม่เคยฟังเพลง Electronic หรือเรียกได้ว่าไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ ครั้งแรกที่ได้ลองฟังก็มีคนเปิดโอกาสให้ผมได้ไปลองเป็น Dj มันก็เลยเป็นทางเลือกที่ผมเลี้ยวมาถูกทาง เป็นทางที่ผมชอบ ดนตรี Electronic Music ในความคิดผมคือ Electronic แบบสังเคราะห์และไม่สังเคราะห์
SPACETALEXXX : คือดนตรีที่สร้างจากเครื่องดนตรี Electronic จริงๆไม่เกี่ยวว่าจะเป็นแนวไหน ถ้าคุณทำเพลง Rock มันจะเป็น Metal มันก็อยู่ใน Category ของ Rock แต่สำหรับผมมันจะมีอีกเรื่องเข้ามา สมมุติง่ายๆ Rock มันอาจจะเริ่มจากการที่วงสมัยก่อนเขาจะเอากีต้าร์มาปรับให้เสียงแตกๆ แต่พอมันพัฒนาไปเรื่อยๆ Rock มันไม่ได้หมายถึงแค่เสียงกีต้าร์แตกแล้ว เหมือนสมัยนี้ที่มักจะมีวง Pop Rock ที่เอาเสียงของ Electronic เข้าไปผสม แต่ว่าเพลงของเขาสำหรับเรามันก็คือ Rock อยู่ดี มันไม่มี Attitude หรือวิธีคิดแบบดนตรี Electronic อยู่ในนั้นเลย
Koichi : จริงมันกว้างมากนะ แต่ที่ผมชอบคือจังหวะ อย่าง Techno, Drum & Bass, Hiphopก็ได้ ผมจะชอบ Beat แรงๆแล้วก็ชัดเจน
**มันมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคุณแค่ไหน**
Koichi : ผมไม่นะ ผมจะเป็นพวกบ้าเครื่อง บ้า Hardware จะดูมากกว่า ว่ามีอะไรใหม่ๆออกมาช่วงนี้มั้ย
SPACETALEXXX : ไม่ขนาดนั้น แต่พูดอย่างนี้ดีกว่า ว่า “ดนตรีมีบทบาทกับชีวิต” แต่ดนตรีสำหรับผม ผมฟังหลายแนว ไม่ใช่แค่ Electronic อย่างเราชอบ Drum & Bass แต่คนที่เขาเป็น Producer หรือทำเพลงด้านนี้จริงๆเขาจะบอกว่าคุณต้องฟังดนตรีแนวอื่น ถึงจะสร้างของใหม่ได้ ถ้าคุณฟังแต่ Drum & Bass อย่างเดียว คุณก็จะทำเพลงเลียนแบบศิลปินคนนู้น คนนี้ ไปเรื่อยๆ เราเลยรู้สึกว่า ดนตรีแนวใหม่ที่มันจะเกิด มันเกิดจากการที่เราฟังเพลง ที่นอกเหนือจากดนตรี Electronic แล้วเอามาผสมกันให้กลายมาเป็นเพลง Electronic ในแบบของคุณเอง
Tom FKG : ส่วนผม ผมจะอยู่กับมันทั้งวันทั้งคืน ตอนเช้าตื่นไปส่งลูกก็ฟังเพลง แล้วผมก็จะสอนให้ลูกเขาลองฟัง แล้วเขาก็จำได้ว่าแผ่นไหนเพลงอะไร แล้วถ้าเขาชอบ เขาก็จะทำสัญลักษณ์ Smily ไว้ที่แผ่นนั้น แล้วก็จะเป็นดีเจเลือกเพลงให้ผมฟังในตอนเช้า เพลงส่วนใหญ่ก็จะเป็น Electronic Music ในแบบของผมเอง ชีวิตผมมันก็เลยอยู่กับเพลง Electronic มาตลอด
**สำหรับคุณแล้ว ดนตรี Electronic Music มันเข้าถึงคนไทยในระดับไหน**
Tom FKG : มันก็อยู่ที่ร้านที่นำเสนอเขาด้วย บางทีก็โทษเขาไม่ได้นะ เราไปโลตัส ไปร้านอาหาร เราก็ได้ยินเพลงแนวนี้มากขึ้น
SPACETALEXXX : ถ้ามองภาพรวมคือคนมันฟังเยอะขึ้นเพราะกระแส EDM ภาพรวมนี้หมายถึงทั้งโลกนะ แต่สำหรับผม ผมว่ามันคนละ Scene กัน แต่ถ้าถามผมจริงๆผมตอบได้ว่ายุคนี้ไม่ใช่ยุคทองของดนตรี Electronic music ยุคที่พีคจริงๆมันคือ 90’s Golden Era สำหรับเราและทั่วโลกเลยนะ แล้วคนที่ชอบก็ฟังมันแบบจริงๆ อย่าง Chemical Brother ในยุคนั้น คนที่ฟังวงนี้จริงๆจนถึงตอนนี้ เขาก็ยังซื้อแผ่นเก็บสะสมหรือฟังวงนี้กันอยู่เลย แต่ว่าคนที่ฟังเพลง EDM หรือ Electronic Music ในยุคนี้มันจะเป็นอีกแบบ เขาชอบเพราะมันเป็นเหมือนมหรสพ เพราะไปเที่ยวบาร์แล้วบาร์เปิด เขาก็เต้น แต่คนพวกนี้อีก 5ปี 10ปีต่อจากนี้ พอมีคนเปิด EDM ที่ดังที่สุดตอนนี้สิ่งที่เขาจะมี Action กับมันคือเขาจะขำ เหมือนที่ยุคก่อนเราเคยได้ยินเพลงที่ร้อง อาเซเดเฮ ถ้าเรามาพูดตอนนี้มันก็ขำนะ มันไม่เหมือนที่เราพูดถึงเพลง Around The World เราจะพูดถึงมันในแง่ของการชื่นชมมากกว่า
**การรวมตัวสำหรับงาน TEMPOLOGY ในครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดอะไรได้บ้างใน Electronic Music Scene ของบ้านเรา**
Koichi : ถ้าใครอยากรู้ Scene ดนตรี Electronic Music ของประเทศไทยแล้วมางานนี้ก็จะได้รู้จนครบ อย่างเวลาเห็นงานปาร์ตี้ อย่างปาร์ตี้ Techno มันกลายเป็นงานที่มีแต่คนมีอายุไปไปแล้ว เปรียบเทียบก็เหมือนเป็นงาน Jazz ของยุคสมัยที่เรายังเด็ก แต่ Tempology มันเข้าถึงเด็กรุ่นใหม่ได้ดี ดนตรีของงานนี้มันก็เป็นเพลงที่หาฟังได้ยาก แม้แต่เด็กๆที่ออฟฟิตผมยังตื่นเต้นกับงานนี้เลย มันเจ๋งดีนะที่เข้าถึงเด็กรุ่นใหม่ๆได้ขนาดนี้
SPACETALEXXX : มันก็ไม่ใช่ตัววัดจริงๆหรอก ตัวที่จะชี้วัดจริงๆมันอยู่ที่เวลา Promoter จัดงานเล็กๆในแต่ละเดือนมากกว่า คนที่มาในงานนั้นๆมันคือตัวเลขจริงๆของคนฟังดนตรี Electronic Music ของเมืองไทย แต่งาน Tempology ก็จะมีคนที่อยากรู้เกี่ยวกับ Scene นี้มากยิ่งขึ้นก็จะได้แฟนกลุ่มใหม่ๆ หรือบางคนที่ฟังเพลงแนวนี้ แต่อายุเยอะแล้ว มีครอบครัวแล้ว และหยุดเที่ยวไปนานๆทีก็ออกมา Update หน่อย แต่มีมันดีกว่าไม่มีอยู่แล้ว มันต้องมีคนจัดงานแบบนี้นี่แหละ
Tom FKG : มันก็เป็นตัวชี้วัดนะว่าเด็กวัยรุ่นไทยมา Support ศิลปิน หรือ Dj คนไทยมากยิ่งขึ้น มากกว่าที่เห็นโฆษณาตามป้ายว่าเป็น Dj ต่างประเทศแล้วก็แห่ไปงานนั้นกัน แล้วคนที่มางานนี้คงไม่ได้มาเพราะอยากมาถ่ายรูป หรือ Check in หรอก คือเขามาเสพเพลง แล้วงานนี้มันก็เหมือนรวมเอาศิษย์เก่า ศิษย์ใหม่ของ Scene นี้ไว้ด้วยกัน ผมว่ามันเป็นตัวชี้วัดที่ดีเลยละ
**สุดท้ายคำถามนี้ง่ายๆเลย ทำไมคุณถึงควรมางาน TEMPOLOGY**
SPACETALEXXX : พูดแบบเพชรได้มั้ย ว่าศิลปินจะได้มีเงินกินข้าว 5555 อันนี้เอาจริงๆละ เรื่องแรกเลยคงเป็นเรื่องการ Support ศิลปิน Local มาเยอะคนจัดก็ไม่เจ๊ง จริงๆแล้วมันไม่ได้รวยจากงานนี้หรอก แต่ศิลปินก็มีรายได้จากการทำสิ่งที่ตัวเองรัก ผมเชื่อว่าคนที่อ่านถึงตรงนี้ หรือคนที่จะมา ส่วนหนึ่งเป็น Dj เยอะ และอาจไม่ได้เล่นเพลงที่ตัวเองชอบ น่าจะเข้าใจคำตอบของผมอันนี้นะ อย่างถ้ามีงานแบบนี้มา Booking น้องๆ Dj พวกนี้ เขาคงเล่นเพลงที่เขาอยากเล่น และน้องเขาก็ต้องอยากเห็นคนแบบพวกเรานี่แหละมา Support ก็น่าจะคล้ายๆกัน ใน Scene นี้ถ้าเป็นคนที่เป็น Dj คนทำเพลง ก็ต่างคนต่างช่วยกัน Support มันก็ดี แต่สำหรับคนทั่วไปที่เคยไปดูงานแบบอื่นๆมาแล้ว หลายๆคนอาจไปเพราะ Production แต่ Tempology งานนี้มันคืองานขาย Selection
Tom FKG : ถ้าคนที่อ่านถึงตรงนี้ก็คงจะสนใจงานนี้จริงๆแล้วละ มาครับ มา Support กัน เหมือนกับต่อยืดอายุ มันมีกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มหรอกที่เขายังดันทุรังทำงานแบบนี้ กำไรก็ไม่ได้เยอะ แต่ก็ยังทำกันเพื่อ Scene ลองมา Support กันครับ
Koichi : ความน่าสนใจของ Tempology คือแต่ละศิลปินที่มาเล่นจริงๆเขาก็คือคนจัด Event แต่ Tempology คือคนให้ Platform ให้หลายๆคนมารวมตัวกันปีละครั้ง แล้วก็เอาไอเดียมาแชร์กัน มันมีอะไรมากกว่า Event Festival ทั่วๆไป มีการ Collaboration ที่ใหญ่มาก อยากให้มาดูกัน
ทั้งหมดนี้คือเบื้องหลังการทำงานของ 3 ศิลปินและ Dj แม้การเดินทางในสายดนตรีนี้จะไม่ได้ราบรื่นอย่างที่เห็นภายนอก แต่พวกเขาก็เลือกที่จะทำในสิ่งที่พวกเรารัก นั่นคือการทำเพลง การเล่นดนตรี การถ่ายทอดพลังสร้างสรรค์จากดนตรีสังเคราห์เหล่านี้สู่พวกคุณทุกคน แล้วงาน TEMPOLOGY ในวันที่ 13 นี้พวกเขาจะนำพลังทั้งหมดส่งต่อให้กับทุกคนในวันงานอีกครั้ง เพื่อเป็นแรงผลักดันและพัฒนาศิลปินและ Dj ใน Scene ดนตรี Electronic Music ของเมืองไทย แล้วเจอกัน!!
Photo : Tavisrut Piper Burapat
Content : Phakavadee Deechuay

WINKIEB
bill@tempobkk.com
ผู้รักเสียงเพลง และดนตรีสังเคราะห์เป็นชีวิตจิตใจ